ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

 

งานประเพณีและกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด

จังหวัดเพชรบุรี มีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและการละเล่นพื้นเมืองที่สำคัญที่นิยมปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  คือ

 

*      งานพระนครคีรีเมืองเพชร จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เริ่มในวันศุกร์สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ รวม 10 วัน 10 คืน เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์เมืองเพชร ตลอดจนเพื่อเผยแพร่สิ่งที่ดีงามในทุกด้านให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การแสดงและสาธิตงานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การแข่งขันวัวเทียมเกวียน เป็นต้น  ในช่วงของจัดงานจะมีการประดับไฟบนเขาวัง สวยงามเป็นอย่างมาก

 

*      ประเพณีวัวลานหรือวัวระดอก การเล่นวัวลานมีวิวัฒนาการมาจากการใช้วัวนวดข้าวเพราะลักษณะลานนวดข้าวเป็นวงกลม วิธีการนวดข้าวนั้น วัวที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางไม่ต้องใช้กำลังและฝีเท้ามากเพราะอยู่ในช่วงหมุนรอบสั้น แต่วัวตัวที่อยู่นอกสุดอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางมาก ระยะทางที่ต้องหมุนจะยาวกว่าจึงต้องเลือกวัวตัวที่มีกำลังและฝีเท้าดี ด้วยเหตุนี้เกษตรกรจึงคิดการเล่นวัวลานขึ้นมาเพื่อความสนุกสนานประกวดว่าวัวของใครจะมีฝีเท้าและกำลังดีกว่ากันและยังมีผลต่อการค้าขายวัวใช้งานอีกด้วยเพราะวัวที่ชนะการเล่นวัวลานจะมีผู้สนใจซื้อในราคาสูง

 

*      วัวเทียมเกวียน   เมืองเพชรบุรีได้จัดให้มีการประกวดวัวเทียมเกวียนขึ้นทุก ๆ ปี ในช่วงของการจัดงานพระนครคีรี – เมืองเพชร  เพื่ออนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้านและสืบทอดประเพณี  ชาวบ้านนิยมนำวัวมาประกวดเพราะมีความหมายว่า วัวที่มีความสมบูรณ์จะเป็นเครื่องบ่งบอกถึงฐานะความเป็นอยู่ของผู้เป็นเจ้าของ ลักษณะการประกวดวัวเทียมเกวียนจะประกวดครั้งละ 1  คู่ กล่าวคือ วัวจำนวน 2 ตัวต่อเกวียน 1 เล่ม หรืออาจจะประกวดทั้งสองคู่ก็มี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม การเดินของวัวในระหว่างที่เดินประกวดจะมีเสาหลักปักไว้เป็นคู่ ๆ วัวเทียมเกวียนจะต้องเดินให้ครบ 3 รอบ และห้ามวัวเดินชนเสาหลัก ในระหว่างที่เดินอาจจะมีดนตรีบรรเลงเพื่อความสนุกสนานด้วย

 

*      ละครชาตรี  เป็นละครรำที่เก่าแก่ที่สุด ได้รับวัฒนธรรมจากละครของอินเดีย เข้ามาสู่เมืองเพชรบุรี   ตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน มีเพียงประวัติว่า หม่อมเมืองซึ่งเป็นหม่อมในรัชกาลที่ 5 เป็นคนเพชรบุรี ด้วยเป็น ผู้มีความสามารถในการละเล่นละครชาตรี จึงมักเล่นถวายหน้าพระที่นั่งทุกครั้งที่เสด็จมาจนได้รับพระราชทานบริเวณ “หน้าพระลาน” เพื่อเป็นที่แสดงละครเป็นประจำ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีผู้นำละครนอกมาประสมกับละครชาตรี เรียกว่า ละครเข้าเครื่อง หรือละครชาตรีเครื่องใหญ่ เป็นละครที่รวมศิลปะการร้อง และการรำเข้าด้วยกัน และได้แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

 

*      ไทยทรงดำ   หรือไทยดำ หรือ ไทยโซ่ง หรือ ลาวโซ่ง เป็นชื่อกลุ่มชนเผ่าไทยกลุ่มหนึ่งในท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอำเภอเขาย้อย อาชีพหลักของชาวไทยทรงดำ คือทำนาทำไร่ หาของป่า และจับสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังมีความสามารถเป็นพิเศษในการจับปลาตามห้วย หนอง ลำคลอง ส่วนอาชีพรอง คือ อาชีพจักสาน โดยเฉพาะการจักสานหลัก หรือเข่ง ภาษาของชาวไทยทรงดำ มีลักษณะคล้ายกับภาษาไทยอื่นๆ ทั่วไป แต่มีลักษณะเฉพาะในการออกเสียงและศัพท์เฉพาะบางคำและมีอักษรเขียนของตนเองซึ่งปัจจุบันมีผู้อ่านได้น้อยลง ทรงผมเป็นเอกลักษณ์  อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจโดยเฉพาะทรงผมของผู้หญิงมีถึง 8 แบบ  แต่ละแบบจะบ่งบอกถึงสถานภาพของสตรีผู้นั้น

 

*      การแข่งเรือยาว  ประเพณีแข่งขันเรือยาวของจังหวัดเพชรบุรีนิยมเล่นกันตามวัดต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี  ตั้งแต่กลางเดือน 11  ถึงกลางเดือน 12 ซึ่งในวันแข่งเรือยาวจะเป็นวันเดียวกับที่เจ้าภาพนำผ้ากฐินทอด ณ วัดนั้น การแข่งเรือจะมีขึ้นในเวลาประมาณเที่ยง แข่งขันเป็นคู่ ๆ เรื่อยไป เรือยาวลำใดชนะจะได้รางวัล  สมัยก่อนรางวัลไม่กำหนด ส่วนมากจะเป็นผ้าแถบ  ผ้าแพรสีต่าง ๆ โดยจะใช้ผูกหัวเรือหรือมอบกับฝีพายหญิงที่นั่งพายคู่อยู่ส่วนหัวเรือ  ซึ่งจะมี  4 คู่  5 คู่ หรือมากกว่านั้น  หรืออาจเป็นผ้าขาวม้า ซึ่งนิยมมอบให้กับฝีพายผู้ชาย  ซึ่งอาจมี  8 คู่  10  คู่  นั่งอยู่ส่วนท้ายเรือ

 

*      เห่เรือบก เป็นการดัดแปลงจากการเห่เรือน้ำซึ่งเป็นประเพณีดังเดิมของชาวเพชรบุรี การเห่เรือบกเริ่มมากว่า 20 ปี ต่อมาภายหลังจากสร้างเขื่อนเพชรปิดกั้นแม่น้ำเพชรบุรีที่อำเภอท่ายางเป็นผลให้แม่น้ำเพชรบุรีแห้งขอดลง และส่วนตอนกลางแม่น้ำก็ตื้นเขิน ไม่เหมาะแก่การเห่เรือน้ำเหมือนในอดีต ผู้เคยเล่นเรือน้ำจึงคิดดัดแปลงลักษณะของการเห่เรือน้ำมาเล่นบนบก โดยเอาเนื้อร้องและทำนองมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับท่าทางของฝีพายขณะเดินเห่ ผู้เล่นมีทั้งหญิงและชายซึ่งเป็นทั้งฝีพายและลูกคู่  ส่วนเรือที่จำลองจะประดับประดาสวยงามมาก  เนื้อความที่ใช้เห่เรือบกจะเริ่มด้วยบทไหว้ครู  บทเกริ่น  บทเกี้ยวพาราสี  บทชมนกชมไม้ มีข้อสังเกตว่าไม่มีบทว่าโต้ตอบกัน  ต้นเสียงจะเห่บทเพลงไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นว่าสมควรแก่เวลาก็จะเห่บทอำลาและอวยพรให้ผู้ชม

 

l  เอกลักษณ์ของท้องถิ่น

        1. เขาวัง  ในสมัยโบราณนิยมเรียกกันว่า “เขาสมน” ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพระนครคีรีซึ่งเป็นพระราชวังบนเขาสูง นับเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเพชรบุรีเช่นเดียวกับต้นตาลโตนด กล่าวได้ว่าหากมีโอกาสมาเมืองเพชรบุรีแล้วไม่ได้ขึ้นเขาวัง ก็ดูเหมือนยังมาไม่ถึงเมืองเพชรบุรี

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯมาที่เมืองเพชรบุรีและทรงพอพระราชหฤทัยกับธรรมชาติบนเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังขึ้นเพื่อเป็นที่สำหรับแปรพระราชฐาน  มาประทับพักผ่อน ในครั้งนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองในการก่อสร้าง และเมื่อสำเร็จแล้ว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า  “ พระราชวังพระนครคีรี”  ส่วนเขาลูกนี้ก็พระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า  “เขามหาสวรรค์”

 

        2. ต้นตาล  จังหวัดเพชรบุรีมีต้นตาลมากที่สุดในประเทศไทย  ดังปรากฏหลักฐานจาก  “นิราศเมืองเพชรบุรี”  ของสุนทรภู่ ความตอนหนึ่งว่า  “ทุกประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล”” ด้วยเหตุนี้ ต้นตาลจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี คู่กับเขาวัง หรือพระนครคีรี  ปรากฏเป็นตราและธงประจำจังหวัดเพชรบุรี  สืบมาจนถึงทุกวันนี้

ต้นตาลเมืองเพชรบุรีให้ผลผลิตน้ำตาลโตนดที่ดีที่สุดมาตั้งแต่สมัยโบราณตราบจนถึงปัจจุบัน จึงมีชื่อเสียงติดปากคนทั่วไปว่า “น้ำตาลเพชรบุรี” เพราะมีรสหวาน หอมอร่อย รสชาติกลมกล่อมชวนรับประทาน จนเป็นที่มาของคำว่า “หวานเหมือนน้ำตาลเมืองเพชร” โดยทั่วไปตามชนบทชาวนาจะปลูกข้าวและทำตาลควบคู่กันไป ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกต้นตาลไว้บริเวณคันนา บริเวณที่มีต้นตาลมากที่สุดของจังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ ท้องทุ่งตำบล   หนองไม้เหลือง ตำบลโตนดหลาย ตำบลไร่ส้ม  ตำบลโรงเข้ เป็นต้น ในท้องที่เหล่านี้เมื่อมองผ่านต้นตาลจะมองไม่เห็นท้องฟ้าอีกด้านหนึ่ง  แต่ปัจจุบันเนื่องจากมีการทำนา 2 ครั้ง เป็นผลให้ต้นตาลปรับสภาพไม่ทันเพราะพื้นที่มีน้ำมากเกินไปเนื่องจากกลายเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ต้นตาลไม่ได้พักตัวที่เรียกว่า“แต่งตัว” ในที่สุดก็ต้องยืนตายภายในเวลาไม่นาน ปัจจุบันจำนวนต้นตาลจึงลดลงบ้าง

 

        3. ชมพู่เพชร เป็นผลไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งชาวเพชรบุรีมีความภาคภูมิใจ  โดยเฉพาะรสชาติที่หวานกรอบ อร่อย  แตกต่างไปจากชมพู่พันธุ์อื่น ๆ  หรือแม้แต่จะนำพันธุ์ของชมพู่เพชรไปปลูกที่อื่นคุณภาพก็จะไม่ดีเท่ากับปลูกที่เมืองเพชรบุรี  ดังนั้นการปลูกชมพู่เพชรจึงทำรายได้ให้แก่เกษตรกรจำนวนมากความเป็นมาของการปลูกชมพู่เพชรนั้น ปรากฏเรื่องเล่าต่อกันมาว่า นายหรั่ง แซ่โค้ว  เกิดเมื่อปี พ..2358 ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำเมืองเพชรบุรี ฝั่งตรงข้ามวัดขุนตรา  ซึ่งเดิมเรียกกันว่า  “บ้านสะพานยายนม”  นายหรั่ง มีอาชีพค้าน้ำตาลทางเรือระหว่างจังหวัดเพชรบุรี – กรุงเทพฯ  ต่อมานายหรั่งได้นำกิ่งตอนพันธุ์ชมพู่เพชรมา 3 กิ่ง ไม่ปรากฏว่ามาจากสวนแห่งใด  ชมพู่เพชรทั้ง 3 กิ่งนี้ เป็นชมพู่เพชรรุ่นแรกที่นำมาปลูกในบริเวณแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งริมน้ำมีดินดี มีความร่วนซุย  น้ำท่วมถึง  มีปุ๋ยและอินทรีย์วัตถุอุดมสมบูรณ์ที่เรียกว่า  “น้ำไหลทรายมูล”  มาทับถมอยู่ไม่ขาด  เหตุนี้ชมพู่เพชรจึงเจริญเติบโตงอกงามให้ผลดี สีสวยและมีรสชาติอร่อย แตกต่างไปจากชมพู่เขียวที่มีอยู่เดิม ต่อมามีผู้ขอขยายพันธุ์ชมพู่เพชรไปปลูกบ้างแต่เจ้าของไม่ประสงค์จะให้ขยายกิ่งพันธุ์ชมพู่เพชรไปปลูกแพร่หลาย  ดังนั้นในระยะแรกชมพู่เพชรทั้งสามต้น จึงยังไม่ได้แพร่พันธุ์ไปปลูกในที่แห่งใด อย่างไรก็ตาม ต่อมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 ได้มีการขยายตอนกิ่งชมพู่เพชรออกจำหน่ายให้กับคนที่ต้องการในราคาประมาณกิ่งละ 200 - 250 บาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่แพงมากในสมัยนั้น และภายหลังจาก ..2500 เป็นต้นมา กิ่งชมพู่เพชรก็เป็นที่แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรี

 

        4. แม่น้ำเพชรบุรี  หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า  “น้ำเพชร”  เป็นธรรมชาติมีต้นน้ำจากทิวเขาตะนาวศรี  ซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศสหภาพพม่า  ไหลผ่านพื้นที่ในเขตอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด วัดท่าไชย อำเภอเมืองเพชรบุรี และลงสู่ทะเลอ่าวไทยที่อำเภอ    บ้านแหลมทางด้านทิศเหนือของจังหวัด

                       น้ำเพชร  มีความสำคัญในฐานะที่เป็นศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาฯลฯ ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นน้ำเสวยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวราชกาลที่  4   สืบมา จนกระทั่งยกเลิกไปใน พ..2465 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  ในอดีตกล่าวกันว่า น้ำเพชรมีรสอร่อย ใสสะอาด และจืดสนิท จึงถือได้ว่าน้ำเพชรเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเพชรบุรีอีกประการที่หนึ่งที่ชาวเพชรบุรีภาคภูมิใจ