สภาพภูมิประเทศ

 

         พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเพชรบุรีเป็นที่ราบสูง มีภูเขาและป่าไม้ ทางทิศตะวันออกเป็น ที่ราบลุ่มไปจรดอ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ประกอบการเกษตรได้เป็นอย่างดี ทิศตะวันตกเป็นที่ราบสูง และเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า นอกจากนี้ยังมีป่าไม้อยู่ในท้องที่อำเภอแก่งกระจานอีกด้วย ทำให้เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชีพต่างๆ ทุกด้าน ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดเพชรบุรี แบ่งออกได้เป็น 3 เขต คือ

 

        1) เขตเขาและที่ราบสูงด้านตะวันตก เขตนี้อยู่ในอำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง ด้านตะวัน ตกติดกับประเทศพม่า มีพรมแดนยาวประมาณ 120 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่สูงชันที่สุดของจังหวัดมีภูเขาสูงบางยอด สูงกว่า 1,500 เมตร จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ แร่ธาตุ และเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารต่าง ๆ มากมาย มีชาวเขากระเหรี่ยง กระหร่าง อาศัยอยู่กระจัดกระจาย อากาศเย็นตลอดปี บริเวณนี้จึงเหมาะแก่การทำเหมืองแร่ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ พื้นที่ถัดจากบริเวณนี้จะค่อยๆ ลาดต่ำลงมาทางทิศตะวันออก มีเทือกเขาเป็นเขตแนวลักษณะยาวจากเหนือมาใต้ และเป็นสันกั้นน้ำซึ่งเป็นต้นแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี นอกจากนี้ยังมีเทือกเขาเป็นแนวเตี้ยๆ ที่ต่อมาจากกาญจนบุรี ราชบุรี และมีแนวเขาในเขตอำเภอเขาย้อย  ติดต่อกับอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ ทำให้เกิดที่ราบระหว่างภูเขา เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่ประจันต์  อำเภอหนองหญ้าปล้อง และอำเภอบ้านลาด ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรม ที่สำคัญแหล่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี

 

        2) เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ เขตนี้เป็นพื้นที่ราบสามารถทำการเพาะปลูกได้ดี ได้แก่ บริเวณบางส่วนของอำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ อำเภอบ้านลาด อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอเขาย้อย บริเวณนี้จึงเหมาะสำหรับการประกอบการเกษตร ได้แก่ การทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และการก่อตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตการเกษตร

 

        3) เขตที่ราบฝั่งทะเล ด้านตะวันออกของจังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ราบจรดชายฝั่งทะเล อยู่ในอำเภอบ้านแหลม  อำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอชะอำ โดยมีชายทะเลซึ่งเริ่มจากปากอ่าวบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม ถึงสนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยาวประมาณ 82 กิโลเมตร บริเวณนี้เป็นแหล่งเศรษฐกิจในทุก ๆ ด้าน ทั้งการเกษตร ประมง อุตสาหกรรม การค้า ธุรกิจการบริการ และการท่องเที่ยว